Tuesday 12 December 2006

อัญมณีในทางโหราศาสตร์

การจัดเอาอัญมณีมาประจำดาวต่าง ๆ นั้น เราจะถือเอาดาวเพียง 9 ดวงเท่านั้น โดยยกเว้นดาวมฤตยู เพราะเป็นดาวแห่งภัยอาเพศ นอกจากนี้อัญมณีประจำดาวยังนับเป็นอัญมณีประจำวันได้อีกทางหนึ่งด้วยดังที่ได้มีบันทึกใน “คัมภีร์ปาริชาตชาดก” โดยพันเอก(พิเศษ)ประจวบ วัชรปาณ และ อ.เทพย์ สาริกบุตร โดยมีข้อความดังนี้ “ การจัดนพเคราะห์ ท่านกำหนดไว้ดังนี้ คือ ทับทิม เป็นรัตนของอาทิตย์ ไข่มุกขาวบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ เป็นรัตนของจันทร์ พลอยปะการังแดง เป็นรัตนของอังคาร มรกต เป็นรัตนของพุธ บุษราคัม เป็นรัตนของพฤหัส เพชร เป็นรัตนของศุกร์ นิลกาฬหรือไพลิน เป็นรัตนของเสาร์โกเมนส้ม เป็นรัตนของราหู ไพฑูรย์หรือเพชรตาแมว เป็นรัตนของเกตุ”

สรุปก็คือ อัญมณีประจำดาวทั้ง 9 มีดังนี้.

1. พระอาทิตย์ หรือวันอาทิตย์ ทับทิม
2. พระจันทร์ หรือวันจันทร์ ไข่มุก
3. ดาวอังคาร หรือวันอังคาร ปะการังแดง
4. ดาวพุธ หรือวันพุธ มรกต
5. ดาวพฤหัส หรือวันพฤหัสบดี บุษราคัม
6. ดาวศุกร์ หรือวันศุกร์ เพชร
7. ดาวเสาร์ หรือวันเสาร์ นิลหรือไพลิน
8. ราหู หรือวันพุธกลางคืน เพทายสีส้มหรือโกเมนสีส้ม
9. ดาวเกตุ ไพฑูรย์หรือเพชรตาแมว

สำหรับอัญมณีประจำเดือนเกิด (Birth Stone) ซึ่งเป็นคติของทางตะวันตกและได้รับการรับรองจากสมาคมผู้ค้าปลีกอัญมณีแห่งชาติสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 มีดังนี้

1. มกราคม โกเมน
2. กุมภาพันธ์ อะมีธิสต์
3. มีนาคม อะคัวมารีน
4. เมษายน เพชร
5. พฤษภาคม มรกต
6. มิถุนายน ไข่มุก
7. กรกฎาคม ทับทิม
8. สิงหาคม เพอริโด
9. กันยายน ไพลิน
10. ตุลาคม โอปอ, ทัวมาลีน
11. พฤศจิกายน บุษราคัม
12. ธันวาคม เทอร์ควอยส์, โทปาซ

ในส่วนของอัญมณีประจำราศีนั้น เนื่องจากการนับราศีของทางตะวันตกกับทางตะวันออกต่างกัน ผู้เขียนจึงขอใช้หลักการเลือกอัญมณีตามราศีเกิดของท่านอาจารย์พูลหลวง ปรมาจารย์โหราศาสตร์ไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งท่านได้กำหนดไว้ดังนี้ค่ะ

1. ราศีเมษ (15 เม.ย. – 14 พ.ค.) โกเมน
2. ราศีพฤษภ (15 พ.ค. – 14 มิ.ย.) เพอริโด หยก
3. ราศีเมถุน (15 มิ.ย. – 15 ก.ค.) อะมีธีสต์
4. ราศีกรกฎ (16 ก.ค. – 16 ส.ค.) เพชร ไข่มุก มุกดา
5. ราศีสิงห์ (17 ส.ค. – 15 ก.ย.) บุษราคัมสีส้ม
6. ราศีกันย์ (16 ก.ย. – 16 ต.ค.) มรกต
7. ราศีตุลย์ (17 ต.ค. – 16 พ.ย.) อะคัวมารีน ไพลิน
8. ราศีพิจิก (16 พ.ย. – 15 ธ.ค.) ทับทิมสีชมพูหรือสีม่วงแดง
9. ราศีธนู (16 ธ.ค. – 13 ม.ค.) บุษราคัม ซิทริน
10. ราศีมังกร (14 ม.ค. – 12 ก.พ.) นิล
11. ราศีกุมภ์ (13 ก.พ. – 13 มี.ค.) ไพลินสีม่วง
12. ราศีมีน (14 มี.ค. – 14 เม.ย.) ทับทิม

ก่อนจะจบในตอนนี้ ผู้เขียนขออธิบายถึงความคลาดเคลื่อนของการนับราศีระหว่างตะวันตกกับทางตะวันออกเพื่อเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ค่ะ
การนับราศีนั้น ทั่วโลกจะนับเอาราศีเมษ (Aries) เป็นราศีแรกของปีหรือเรียกว่าราศีโลกก็ได้ เนื่องจากคนในสมัยก่อนมองเห็นดวงอาทิตย์เริ่มผ่านเส้นศูนย์สูตรจากทางใต้ขึ้นเหนือ ตรงบริเวณกลุ่มดาวราศีเมษ แต่เนื่องจากแกนของโลกเอียงทำให้การมองเห็นจุดเริ่มต้นของดวงอาทิตย์ไม่ตรงกันระหว่างประเทศในเขตร้อนกับประเทศในเขตหนาว ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหน้าหนาว แกนของโลกด้านบนจะเอียงออกห่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้ประเทศที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรจะเป็นฤดูหนาว ขณะที่ประเทศใต้เส้นศูนย์สูตรจะเป็นฤดูร้อน จากนั้นแกนของโลกด้านบนจะเริ่มเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ เมื่อถึงวันที่ 21 มีนาคม แกนของโลกจะตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ทำให้เกิดวันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน หรือที่เรียกว่า “วันวสันต์วิษุวัต (Vernal Equinox)” หลังจากนั้นแกนของโลกด้านบนจะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้ประเทศเหนือเส้นศูนย์สูตรเข้าสู่ฤดูร้อน จากนั้นแกนของโลกด้านเหนือจะเอียงออกจากดวงอาทิตย์จนกระทั่งถึงวันที่ 22 กันยายน แกนของโลกจะตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ทำให้กลางวันเท่ากับกลางคืนอีกครั้ง เรียกว่า “วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ซึ่งการที่แกนของโลกเอียงนี่เองทำให้การมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นของประเทศในเขตร้อนกับประเทศในเขตหนาวไม่ตรงกันค่ะ

ที่มา : http://www.banhonethai.com/

No comments: