Tuesday 12 December 2006

การผสมและวิธีการใช้ เพื่อบำบัด (4)

ก่อนอื่นคุณผู้อ่านจำ Note ได้ไหมค่ะ ในตอนที่ 2 ได้แนะนำน้ำมันหอม 16 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมี Note ที่เป็น Base Middle Top แตกต่างกันไป คงนึกออกแล้วซิคะ ถ้ายังนึกไม่ออกก็รบกวนกลับไปอ่านตอนที่ 2 อีกรอบนะคะ

Note คืออะไร คุณผู้อ่านคงสงสัยแล้วซิ Note หมายถึงความสามารถในการระเหยค่ะ แยกออกเป็น

Base Note คือ ความสามารถในการระเหยต่ำที่สุด (ระเหยได้ช้าที่สุด) เช่น กำยาน แฝกหอม ซีดาร์วู๊ด แพ็ทชูลี่ แฟรงคินเซ้นส์

Middle Note คือความสามารถในการระเหยปานกลาง (ระเหยได้ปานกลาง) เช่น โรสแมรี่ ลาเวนเดอร์ กระดังงา เจอราเนียม พาร์มาโรซ่า โรสวู๊ด มาโจแรม

Top Note คือความสามารถในการระเหยสูงสุด (ระเหยได้เร็วที่สุด) เช่น ส้ม ทีทรี ยูคาลิปตัส เบอร์กาม็อท ตะไคร้หอม เปปเปอร์มินท์ ขิง เกรพฟรุ๊ต มะนาว

คราวนี้พอเราเอามาผสมกันทั้ง Base Middle Top เวลาเราใช้ เราก็จะได้กลิ่นที่เป็น Top ก่อนเพื่อนและกลิ่นนี้ก็จะระเหยหมดไปก่อนเพื่อนเหมือนกัน ส่วนกลิ่นที่เป็น Base จะได้กลิ่นหลังสุดแต่กลิ่นจะทนนานที่สุด สำหรับกลิ่นที่เป็น Middle จะกระจายความหอมตลอดเวลาจนกระทั่งระเหยหมดค่ะ

แล้ววิธีการผสมล่ะคะ จะผสมยังไง ฟ้ากำลังจะบอกอยู่เดี๋ยวนี้แล้วค่ะ

การผสมโดยทั่วไปนั้น ถ้าเป็นมือใหม่หัดขับจะผสมด้วยกลิ่นเพียง 3 กลิ่น โดยใช้สูตรหากินคือ Base 1 Middle 2 Top 1 ตัวอย่างเช่น

ซีดาร์วู๊ด (Base Note) 1 หยด
ลาเวนเดอร์ (Middle Note) 2 หยด
ส้ม (Top Note) 1 หยด

ไม่ยากเลยใช่ไหมค่ะ คุณผู้อ่านลองดูนะคะว่าตัวเองมีโรคอะไรที่ต้องบำบัด ต้องใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดไหนบ้าง แต่ละชนิดมี Note เป็นยังไง เข้ากันได้กับกลิ่นอะไร เมื่อรู้ข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จับมาผสมกันตามสูตรที่ให้ ก็จะได้กลิ่นที่มีสรรพคุณในการบำบัดตามที่ต้องการค่ะ แล้วถ้าต้องการผสมในปริมาณที่มากขึ้น ก็ผสมเพิ่มขึ้นตามสัดส่วน 1:2:1 แค่นี้เองค่ะ

ขอเพิ่มข้อสังเกตอีกหน่อยนะคะ ในกรณีที่เราใช้เพียง 2 กลิ่น ให้เลือกกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งเป็น Middle Note ส่วนอีกกลิ่นจะเป็น Top Note หรือ Base Note ก็ได้ แล้วผสมกันในสูตร 2 : 2 ยกเว้นน้ำมันหอมระเหยบางชนิดที่กลิ่นแรงมาก ๆ ก็ปรับเป็น 3 : 1 ซึ่งโดยมากแล้วน้ำมันหอมที่กลิ่นแรงจะเป็นกลุ่ม Base เช่น แพ็ทชูลี่ กำยาน ของแบบนี้ต้องลองผสมดูค่ะถึงจะทราบว่ากลิ่นไหนเป็นยังไง

เมื่อได้น้ำมันหอมระเหยตามสูตรที่ต้องการแล้ว ต่อไปก็ถึงวิธีการใช้แล้วล่ะค่ะ ก่อนอื่นต้องทราบก่อนนะคะว่าน้ำมันหอมระเหยมีความเข้มข้นที่สูงมาก ห้ามใช้กับร่างกายโดยตรง ยกเว้นลาเวนเดอร์เพียงชนิดเดียว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องจำเอาไว้ให้ขึ้นใจเลยนะคะ แม้แต่ดมโดยตรงก็ไม่ได้ เลยขอเตือนไว้สักนิดนะคะเวลาไปเลือกซื้อน้ำมันหอมแล้วต้องดมกลิ่น ให้ใช้วิธีหยดลงบนกระดาษแล้วโบกผ่านจมูก หรืออาจเปิดฝาขวดแล้วดมก็ได้ แต่ต้องโบกขวดผ่านจมูก ห้ามดมจากขวดโดยตรงนะคะเพราะเยื่อบุโพรงจมูกอาจอักเสบเอาได้ง่าย ๆ

มาถึงวิธีการใช้แล้วล่ะค่ะ ปกติแล้วเราจะใช้น้ำมันหอมระเหย 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การสูดดม และใช้กับผิวหนัง อ้อ !! ความจริงสามารถใช้ได้หลายวิธีนะคะ เช่น การผสมทำเป็นสบู่สมุนไพร ผสมครีมบำรุง ผสมกับเกลือทะเลบริสุทธิ์สำหรับทำเกลืออาบน้ำหรือสครับขัดผิว แต่เนื่องจากแต่ละแบบมีกรรมวิธีในการทำที่ยุ่งยากเลยขอละไว้ค่ะ เราเอาน้ำมันหอมระเหยมาใช้แบบง่าย ๆ ดีกว่านะคะ

การสูดดม

1. สูดดมโดยตรง จะต้องนำมาทำให้เจือจางก่อนโดยการผสมกับน้ำมันตัวพา (Carrier oil) แล้วหยดลงบนผ้า กระดาษทิชชู หรือสำลี
2. จุดเตาเผา โดยการหยดลงในน้ำในเตาแล้วเผาด้วยความร้อนจากไฟที่ไม่มีควัน เช่น ไฟจากเชื้อเพลิง Alcohol แข็ง
3. ผสมน้ำอาบ โดยการหยดลงในถังน้ำอุ่นแล้วตักอาบ หรือหยดลงในอ่างอาบน้ำแล้วแช่ตัวประมาณ 20 นาที

การใช้กับผิวหนัง

1. การนวด หยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำมันตัวพา (Carrier oil) แล้วนำมานวดตัว หรือบริเวณที่ต้องการ
2. การประคบ หยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำมันตัวพา (Carrier oil) น้ำเย็น หรือน้ำอุ่น แล้วใช้ผ้าสะอาดจุ่มลงไป บิดให้หมาด ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่ต้องการ

การเจือจางน้ำมันหอมระเหย

1. การนวด

น้ำมันหอมระเหย 2 หยด ต่อน้ำมันตัวพา 1 ช้อนชา
น้ำมันหอมระเหย 4 หยด ต่อน้ำมันตัวพา 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันหอมระเหย 10 หยด ต่อน้ำมันตัวพา 25 มล.
น้ำมันหอมระเหย 20 หยด ต่อน้ำมันตัวพา 50 มล.

2. การอาบ ใช้ 4-5 หยด ต่อน้ำอุ่น 1 ถัง หรือ 8-10 หยด ต่อการแช่น้ำอุ่น 1 อ่าง
3. การประคบ ใช้ 2-3 หยด ต่อน้ำ 1 ถ้วย (120 ml.)
4. การสูดดม ใช้ 2 หยด ต่อน้ำมันตัวพา 1 ช้อนชา
5. การจุดเตาเผา ใช้ 4-5 หยด ต่อน้ำ 1 ถ้วยเตาเผา

หมายเหตุนะคะ น้ำมันตัวพา (Carrier oil หรือ Base oil) คือน้ำมันพืชค่ะ แต่เป็นน้ำมันพืชที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิว ซึ่งโดยมากจะได้จากกรรมวิธีหีบเย็น (Cold Press) จัดเป็นน้ำมันบริสุทธิ์หรือที่มักเรียกกันว่า Virgin oil น้ำมันที่นิยมใช้ในการนวดได้แก่ Sunflower seed oil, Sweet Almond oil, Grape seed oil, Coconut oil, Jojoba oil ค่ะ

ก่อนจะจบจากตอนนี้ ฟ้าอยากให้สูตรการผสมน้ำมันหอมระเหยแบบง่าย ๆ ให้คุณผู้อ่านลองไปผสมดูนะคะ เป็นกลิ่นสำหรับราศีธาตุดิน (กระดังงา) ธาตุน้ำ (ลาเวนเดอร์) ธาตุลม (ตะไคร้หอม) ธาตุไฟ (โรสแมรี่) ชอบกลิ่นไหนบอกกันด้วยค่ะ

1. กลิ่นกระดังงา

เบอร์กาม็อท 1 หยด
กระดังงา 2 หยด
ซีดาร์วู๊ด 1 หยด

2. กลิ่นลาเวนเดอร์

ส้ม 1 หยด
ลาเวนเดอร์ 2 หยด
แฟรงคินเซ้นส์ 1 หยด
3. กลิ่นตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม 1 หยด
เจอราเนียม 2 หยด
แพ็ทชูลี่ 1 หยด

4. กลิ่นโรสแมรี่

ยูคาลิปตัส 1 หยด
โรสแมรี่ 2 หยด
กำยาน 1 หยด

แถมท้ายให้อีกหน่อยนะคะ สำหรับผู้ที่อยากได้น้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณในการบำบัดอาการเกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ ฟ้าขอเสนอสูตรเด็ดค่ะ

ถ้าจิตใจของคุณฟุ้งซ่าน ในสมองมีแต่ความคิดที่เตลิดไปเรื่อย คุณต้องการน้ำมันหอมระเหยที่จะทำให้จิตใจสงบ ลองสูตรนี้ดูซิค่ะ
ยูคาลิปตัส 2 หยด
ลาเวนเดอร์ 4 หยด
แฟรงคินเซ้นส์ 2 หยด
มาโจแรม 1 หยด
แพ็ทชูลี่ 1 หยด

แต่ถ้าคุณรู้สึกซึมเศร้า โลกนี้ช่างไม่สดใสเลย คุณต้องการน้ำมันหอมที่ให้ความรู้สึกสดชื่น แจ่มใส ลองดูสูตรนี้ค่ะ
เพ็ทติเกรน 2 หยด
เจอราเนี่ยม 4 หยด
ซีดาร์วู๊ด 2 หยด
โรสวู๊ด 1 หยด
เบอร์กาม็อท 1 หยด

สำหรับผู้ที่มีความเครียดอยู่ตลอดเวลา คุณต้องการการผ่อนคลายแล้วละคะ ม่ายงั้นโรคประสาทจะถามหา สูตรนี้ช่วยได้ค่ะ
เบอร์กาม็อท 2 หยด
กระดังงา 4 หยด
แฝกหอม 2 หยด
มาโจแรม 1 หยด
แพ็ทชูลี่ 1 หยด

เป็นไงค่ะ ลองผสมน้ำมันหอมระเหยดูหลาย ๆ สูตร คุณอาจเจอสูตรที่เป็นตัวของคุณเองก็ได้

ที่มา : http://www.banhonethai.com/

No comments: